สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์

Categories :

สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ช่วงต้นเน้นการเลียนแบบอย่างหรือสืบต่อสายสกุลช่างจากอยุธยาตอนปลาย ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างชัดเจน ได้แก่ คตินิยมในการสร้างระเบียงคดล้อมรอบพระอุโบสถ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในสมัยอยุธยา การยกพระแก้วมรกตขึ้นเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดของราชอาณาจักร ความนิยมในการสร้างหน้าบันให้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมากกว่าที่จะสร้างเป็นรูปพระนารยณ์ทรงครุฑ ตลอดจนภาพเขียนที่นิยมเขียนเกี่ยวกับประวัติพระอินทร์มากอย่างมีนัยสำคัญ และความนิยมที่จะเลือกพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ แตกต่างจากคตินิยมเดิมในสมัยอยุธยาที่นิยมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระสถูปเจดีย์ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ 1–3 นิยมสร้างพระปรางค์กับพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเป็นหลัก เจดีย์ทรงเครื่อง เป็นอีกรูปแบบของเจดีย์ที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยา ถูกนำมาสร้างโดยสามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัดว่านิยมสร้างในสมัย รัชกาลที่ 1–3 เท่านั้น เจดีย์ในสมัยรัตนโกสินทร์พบเพียง 4 รูปแบบ คือ เจดีย์ทรงปรางค์ เจดีย์ทรงเครื่อง เจดีย์ทรงระฆัง และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง

ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดสุทัศน์เทพวราราม และให้บูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างในวัดอื่น ๆ ซึ่งมีมาก่อนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงดำริเริ่มสร้างพระปรางค์วัดอรุณมาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 3

สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีความโดดเด่นในการรับอิทธิพลทางศิลปะจีน จนเกิดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า แบบพระราชนิยม ลักษณะสำคัญของพระอุโบสถและพระวิหารคือ อาคารที่มีขนาดใหญ่ หน้าบันส่วนหนึ่งเป็นแบบก่ออิฐถือปูน และที่สำคัญคือการมีเสาพาไลแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ อันเป็นตัวรองรับน้ำหนักที่สำคัญ ลวดลายประดับหน้าบันที่ไม่นิยมใช้ไม้แกะสลัก แต่จะเป็นปูนปั้นลายพรรณพฤกษา เช่น ดอกโบตั๋น วัดที่สร้างตามแบบพระราชนิยมจะไม่มี คันทวย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และไขราหน้าจั่ว เป็นเครื่องหลังคาตามอย่างวัดที่สร้างแบบประเพณี

สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 กลับนิยมแบบดั้งเดิมอย่างคตินิยมสมัยอยุธยา เช่น นิยมมีวิหารอยู่ทางด้านหน้า มีระเบียงคดต่อจากวิหารล้อมรอบเจดีย์ โบสถ์ตั้งขวางอยู่ด้านหลัง เจดีย์ยุคนี้นิยมเจดีย์ทรงกลม ซุ้มประตูหน้าต่างมักทำเป็นรูปปรมาภิไธย สถาปัตยกรรมแบบยุโรปได้เริ่มแพร่หลายในสมัยนี้ เช่น พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี เช่นเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ 5 สถานราชการเปลี่ยนเป็นสร้างแบบยุโรป ตลอดจนวังเจ้านาย สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ยังมีวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารที่ออกแบบอย่างวิหารในสถาปัตยกรรมตะวันตกศิลปะแบบกอทิก

สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6 ยังปรากฏความนิยมในการก่อสร้างอาคารตามแบบไทยประเพณี แม้จะมีการออกแบบโดยช่างชาวต่างชาติ แต่ก็มีข้อกำหนดว่าจะนำรูปแบบไทยมาเป็นหลักในการออกแบบเสมอ[6] เป็นการประยุกต์แบบจารีตเข้ากับพื้นที่ใช้สอยแบบอาคารตะวันตก ดังจะเห็นได้จากการสร้างอาคารในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันคือ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยรัชกาลที่ 7 ไม่มีการสร้างพระอารามหลวงขึ้นมาใหม่ มีการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าโดยมีบริษัทดอร์แมนลอง ประเทศอังกฤษ ออกแบบและก่อสร้าง ตลอดรัชสมัย มีการก่อสร้างวังเพียงแห่งเดียว คือ วังไกลกังวลที่หัวหิน รูปแบบงานสถาปัตยกรรมมีลักษณะเรียบง่าย แผนผังไม่ซับซ้อน แตกต่างจากสมัยรัชกาลก่อน แสดงออกให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีลักษณะเรียบง่ายที่สุดเพราะตระหนักถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ